ปืน จิตวิทยา

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

อุดมศึกษาไทยยังเป็นที่คาดหวังของสังคม

อุดมศึกษาไทยยังเป็นที่คาดหวังของสังคม

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2555 เวลา 00:00 น.
หลายปีที่ผ่านมาอุดมศึกษาไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มอนาคตก็ยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะสถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐเดิม กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน และวิทยาลัยชุมชน มีรวมกันถึง 170 แห่ง ยังไม่รวมการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งอีกเป็นจำนวนมาก และยังเปิดหลายสาขาให้เลือกเรียนเต็มไปหมด แม้จากข้อมูลจำนวนนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะลดน้อยลง จากภาวะเจริญพันธุ์ของคนไทยลดลง แต่การขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษาก็ถือว่าเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทุก คนได้เรียนระดับอุดมศึกษากันมากขึ้น
แต่ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงคือเรื่องของคุณภาพที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวน สถาบัน  ในทางกลับกันยังทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อน มีสถาบันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมือง  การเรียนการสอนขาดคุณภาพ จนทำให้เกิดการร้องเรียนและคำถามจากสังคมว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยมีคุณภาพหรือ ไม่ และมาตรฐานอยู่ตรงไหน  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา  มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยปัญหาและแนวทางการพัฒนาก็พยายามเก็บข้อมูลสถาบันอุดมศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนำร่อง เพื่อติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยใหม่ มหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้ง และวิทยาลัยชุมชน  ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ได้นำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถาบันอุดมศึกษา 3 แห่ง คือมหาวิทยาลัยพะเยา (พม.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.) วิทยาเขตแพร่ และวิทยาลัยชุมชนแพร่ ซึ่งนายอภิชาติ มองว่า สิ่งสำคัญที่ สกอ. มุ่งผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดดำเนินการ คือคำนึงถึงพันธกิจของสถาบัน และคุณภาพของการจัดการศึกษา ทั้งด้านมาตรฐานหลักสูตร คุณภาพบุคลากรและอาจารย์ ด้านสถานที่เรียน อุปกรณ์การเรียนที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บุคลากรที่สถาบันอุดมศึกษาผลิตออกมามีศักยภาพ มีทักษะในการทำงาน สามารถดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนอันใกล้นี้ 
จากการตรวจเยี่ยมสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 3 แห่ง เลขาธิการ กกอ. บอกว่า ในภาพรวมสามารถจัดการเรียนการสอนได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพียงแต่จะต้องมีจุดเน้นมากขึ้น เช่น มพ. ต้องตอบโจทย์ บริการและแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน รวมทั้งต้องสร้างบัณฑิตให้มีจิตสำนึกรับใช้และรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข และทบทวนการเปิดหลักสูตรนอกสถานที่ตั้งว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็ต้องยุบไป   ส่วนศูนย์นอกที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตแพร่ มีจุดเด่นที่อุปกรณ์-สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนครบถ้วน  แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนว่าสอดคล้องกับความต้องการ ของท้องถิ่นอย่างแท้จริงหรือไม่ และที่สุดท้ายวิทยาลัยชุมชนแพร่  มีจุดเด่นในการนำศักยภาพชุมชนมาพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะ เพื่อให้บริการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มที่ทำงานแล้ว แต่ต้องระมัดระวังไม่จัดหลักสูตรที่เป็นวิชาซ้ำซ้อนกับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และต้องเชื่อมโยงการศึกษาต่อเนื่องจากระดับอนุปริญญาถึงระดับปริญญาตรีของ สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ให้ได้ด้วย
ศ.(พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี มพ. บอกว่า มพ.เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งใหม่ มีเป้าหมายพัฒนาไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ เน้นพื้นที่เป้าหมายในเขตภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และลำพูน เพื่อกระจายโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา เน้นการผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ รวมถึงการปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และที่สำคัญเด็กที่มาเรียน มพ. ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเก่ง เพราะเราจะเน้นให้บริการทุกคนที่อยากเรียนและใครเรียนได้ก็ให้เรียนหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนอุดมศึกษาอย่างทัดเทียมกัน
น้องอัม หรือ อัมรินทร์ สวนแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.) วิทยาเขตแพร่ เล่าว่า ครอบครัวของตนไม่ได้ร่ำรวย มีเพียงแม่กับพี่สาวที่ส่งให้เรียน และยังต้องกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วย ดังนั้นถ้าจะให้ไปเรียนมหาวิทยาลัยไกลบ้านคงไม่ได้หรือถ้าไปเรียนก็คงไม่จบ เพราะไม่มีเงิน ดังนั้นการที่ มรอ. มาเปิดวิทยาเขตที่แพร่ ทำให้ได้มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัย และยังช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าเดินทาง ค่าหอพัก ส่วนเรื่องของการเรียนการสอน อุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาจารย์ และสภาพแวดล้อมในการเรียนก็ไม่แตกต่างจากที่มหาวิทยาลัยแม่เลย ซึ่งตนก็เคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่มาแล้ว
“เครื่องคอมพิวเตอร์ที่วิทยาเขตแพร่มีให้ใช้มากกว่าที่มหาวิทยาลัยแม่ ด้วยซ้ำไป เพราะจำนวนนักศึกษามีน้อยแต่เครื่องคอมพิวเตอร์มีมาก และที่สำคัญมีอาจารย์ประจำคอยให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลาและยังมีอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยแม่มาสอนด้วย ทำให้รู้สึกว่าคุณภาพไม่แตกต่างกัน จึงอยากให้มีการเปิดวิทยาเขตออกไปในพื้นที่ห่างไกลอีก เพื่อที่รุ่นน้องหรือคนอื่น ๆ ที่ฐานะไม่ได้ร่ำรวยจะได้มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยบ้าง” น้องอัม ฝากข้อคิดเห็น
ขณะที่ ณัฐมญชุ์ แมตสี่ นักศึกษาอนุปริญญาหลักสูตรคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยชุมชนแพร่ บอกว่า เรียนที่วิทยาลัยชุมชนทำให้ประหยัด เพราะค่าเล่าเรียนไม่แพง และอยู่ใกล้บ้าน ตอนนี้ก็มาเรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่เห็นว่าภาคเรียนปีการศึกษา 2556 ทางวิทยาลัยจะเปิดสอนจันทร์-ศุกร์ด้วยก็เป็นเรื่องดีจะได้มีโอกาสจบเร็วขึ้น เพื่อออกไปทำงาน ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรทำ ทั้งนี้ตนเห็นว่าวิทยาลัยชุมชนเปิดสอนหลากหลายหลักสูตร และเป็นหลักสูตรที่ชุมชนมีความต้องการอย่างแท้จริง มั่นใจว่าจบออกมาจะมีงานทำแน่นอน
เหล่านี้คงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่าสถาบันอุดมศึกษายัง เป็นความต้องการของสังคมไทย และเป็นความหวังของทุกคน แต่ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งและชี้แนะสังคม ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่จะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญเป็นอย่าง ยิ่ง เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมตามที่ประเทศชาติต้อง การ.

ที่มาhttp://www.dailynews.co.th/education/152417

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น