ปืน จิตวิทยา

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

มธ.โชว์คลังความรู้ พร้อมผลิตบัณฑิตสู่อาเซียน

มธ.โชว์คลังความรู้ พร้อมผลิตบัณฑิตสู่อาเซียน

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2555 เวลา 16:48 น.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดงาน  “TU Open House 2012”  ในวันที่ 6 และวันที่ 7 กันยายน  2555  ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์  รังสิต  เพื่อแนะแนวหลักสูตรของมหาวิทยาลัย  ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ โดยในปีนี้ ชูแนวคิด “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสู่สากล” นำเสนอด้านวิชาการทั้งหลักสูตรภาษาไทย หลักสูตรนานาชาติ และบรรยากาศในการเรียนการสอนระดับสากล เพื่อรองรับนักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

รองศาสตราจารย์ ดร. กำพล รุจิวิชชญ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร  ศูนย์รังสิต  ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดงาน ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดจัดงาน  “TU Open House 2012”  เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน  นักศึกษา  อาจารย์  ผู้ปกครอง  ได้เห็นถึงการพัฒนาและการเติบโตทางวิชาการอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยสู่ มาตรฐานสากล มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย รวมทั้งการเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับนักศึกษาไทย นักศึกษาจากต่างประเทศ และนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และเปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นจนเป็นที่ยอมรับในระดับ สากล ซึ่งเห็นได้จากความร่วมมือทั้งในด้านวิชาการ ด้านการนักศึกษา และด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย กับสถาบันและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในทุกภูมิภาคของโลกไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันมากกว่า 350 ข้อตกลง

ภายในงาน หน่วยงาน/คณะ  ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย  ได้จัดแสดงนิทรรศการ  และออกบูธจำนวนมาก  มีกิจกรรมทางวิชาการมากมาย  อาทิ การแนะแนวหลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรนานาชาติ ที่เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี  ปริญญาโท  และปริญญาเอก  การนำเสนอผลงานทางวิชาการ  การแสดงผลงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มธ. วิทยากรที่จะมาเสวนา เรื่อง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสู่สากล” ซึ่งเป็นหัวข้อ Highlight ในงานนี้ ได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจ ที่ธรรมศาสตร์จะเตรียมบัณฑิตให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานของประชาคม อาเซียน ว่า

แม้ว่านักเรียนที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะศึกษาในหลักสูตรภาษาไทย แต่ด้วยการที่ปัจจุบันบริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยแรกที่สำคัญและมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงหนีไม่พ้นการใช้ ภาษาอังกฤษที่เข้ามาเป็นสื่อของการสื่อสารในระดับสากลมากขึ้น แต่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งจะเปิดเสรีทางตลาดแรงงาน ที่จะมีการค้าขาย การลงทุนกับต่างชาติมากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตของเด็กไทยในอนาคต จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบริบทของประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องใช้ชีวิต มีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งธรรมศาสตร์เห็นความสำคัญของมิติการเปลี่ยนแปลง  ธรรมศาสตร์จึงมุ่งสร้างปัจจัยและกลไกต่างๆ ที่จะรองรับการเข้าสู่การเป็น “สังคมอาเซียน และสังคมนานาชาติ” โดยแบ่งเป็น 2 ด้านหลัก คือ

1. ด้านวิชาการ/ หลักสูตร  คือ ส่งเสริมการเรียนการสอนเป็นภาษาต่างประเทศ เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนเป็นวิชาโทมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นการเรียนรู้วิชาที่เกี่ยวกับอาเซียน เพราะในความเป็นนานาชาตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เพียงภาษาอย่างเดียว แต่ต้องรู้และเข้าใจให้เข้าถึงความแตกต่างด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ของประเทศต่างๆ ด้วย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นในสังคมเดียวกัน ซึ่งธรรมศาสตร์มีความพร้อมในการให้ความรู้เหล่านี้แก่นักศึกษาอย่างรอบด้าน

2. ด้านกายภาพ/ บรรยากาศความเป็นนานาชาติ  นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว เมื่อนักศึกษาเดินออกมานอกห้องเรียน ต้องจัดสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อการเป็นสังคมนานาชาติ โดยธรรมศาสตร์จะจัดระบบโรงอาหารที่มีอาหารที่เหมาะสมกับนักศึกษาต่างชาติ หลากหลายมากยิ่งขึ้น จัดให้มีสถานที่พบปะสังสรรค์ของนักศึกษาไทยและต่างชาติได้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมกิจกรรมกันมากขึ้นในลักษณะแบบ International Lounge  เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศเหล่านี้ทั้ง 4 ศูนย์การศึกษา คือ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา

“สำหรับธรรมศาสตร์ ความเป็นนานาชาติ ไม่ได้หมายถึงเพียงการส่งนักศึกษาไปเรียนในต่างประเทศ หรือรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในธรรมศาสตร์เท่านั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ ‘ความเป็นนานาชาติ’ คือ รู้เข้าใจในวัฒนธรรมนานาชาติหรือไม่ ซึ่งได้แก่วัฒนธรรมการตรงต่อเวลา การรับความแตกต่างในชุมชนนานาชาติ ซึ่งแม้จะเรียนในหลักศูตรภาษาไทย ก็เรียนรู้ได้ มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นสร้างความเป็นพลเมืองที่ดี เพราะการเป็นพลเมืองที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น เราต้องฟัง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น ดังนั้น “ความเป็น” นานาชาติจะไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบของด้านภาษาเท่านั้น ดังนั้น นักเรียนจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ‘ความเป็นนานาชาติ’ คืออะไร และเราต้องปรับตัว ปรับทัศนคติ ทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมอะไรบ้างในการใช้ชีวิตในระดับมหาวิทยาลัย และการใช้ชีวิตในสังคมอนาคตที่จะมีเพื่อนบ้านต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น และเมื่อจบการศึกษา บัณฑิตต้องไปใช้ชีวิตทั้งในชีวิตประจำวัน และในการทำงานกับผู้คนที่หลากหลายจากอาเซียน ซึ่งตลาดแรงงานจะเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป”

“ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษาผู้ในใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่  www.bcis.co.th/tuopenhouse หรือค้นหารายละเอียดเพิ่มที่ www.tu.ac.th หรือ facebook.com/ tuopenhouse 2012 สอบถามข้อมูล โทร. 02-564-4440 ต่อ 1117-8 งานประชาสัมพันธ์ และ 02-564-4440-50 ต่อ 1900-2, 1911 สำนักงานอาคารสถานที่ มธ.ศูนย์รังสิต”  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มาhttp://www.dailynews.co.th/education/153157

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น