ปืน จิตวิทยา

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์

ฟรอยด์ (Freud, 1856-1939) เป็นชาวออสเตรีย มีความเชื่อว่า บุคลิกภาพของผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันเนื่องมาจากประสบการณ์ของแต่ละคนเมื่อเวลาอยู่ในวัยเด็ก และขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนแก้ปัญหาของความขัดแย้งของแต่ละวัยอย่างไร โดย 5 ปีแรกของชีวิตจะมีความสำคัญมาก
ฟรอยด์ได้แบ่งจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือ จิตสำนึก (Conscious) จิตก่อนสำนึก (Pre-conscious) และจิตไร้สำนึก (Unconscious)
นอกจากนี้ฟรอยด์ยังได้กล่าวว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด และได้แบ่งสัญชาตญาณออกเป็น 2 ชนิด คือสัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีพ (Life Instinct)และสัญชาตญาณเพื่อความตาย (Death Instinct)สัญชาตญาณบางอย่างจะถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ได้ตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์เรามีพลังงานอยู่ในตัวตั้งแต่เกิดเรียกพลังงานนี้ว่า "Libido" เป็นพลังงานที่ทำให้คนเราอยากมีชิตอยู่ อยากสร้างสรรค์และอยากมีความรัก มีแรงขับทางด้านเพศหรือกามารมณ์ (Sex) เพื่อจุดเป้าหมายคือความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure) โดยมีส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึกและได้เรียกส่วนนี้ว่าErogenous Zones แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ขั้นปาก (Oral Stage) 0-18 เดือน ฟรอยด์เรียกขั้นนี้ว่าเป็นขั้น Oral เพราะความพึงพอใจอยู่ที่ช่องปาก เริ่มตั้งแต่เกิด เป็นวัยที่ความพึงพอใจเกิดจากการดูดนมแม่ นมขวด และดูดนิ้ว เป็นต้น ในวัยนี้ความคับข้องใจจะเกิดขึ้น ถ้าเด็กหิวแต่แม่ไม่ให้นมเลยหรือให้นมแต่ไม่พอ ถ้าหากเด็กเกิดความคับข้องใจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “การติดตรึงอยู่กับที่” (Fixation)
2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) 18 เดือน – 3 ปี เด็กวัยนี้ได้รับความพึงพอใจทางทวารหนัก คือ จากการขับถ่ายอุจจาระ และในระยะซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความคับข้องใจของเด็กวัยนี้ เพราะพ่อแม่มักจะหัดให้เด็กใช้กระโถนและต้องขับถ่ายเป็นเวลา เนื่องจากเจ้าของความต้องการของผู้ฝึกและความต้องการของเด็กเกี่ยวกับการขับถ่ายไม่ตรงกัน ของเด็กคือความอยากที่จะถ่ายเมื่อไรก็ควรจะทำได้ เด็กอยากจะขับถ่ายเวลาที่มีความต้องการ
3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) 3-5 ปี ความพึงพอใจของเด็กวัยนี้อยู่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ เด็กมักจะต้องลูบคลำอวัยวะเพศ ระยะนี้ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กผู้ชายมีปมเอ็ดดิปุส (Oedipus Complex) โดยอธิบายการเกิดของปมเอ็ดดิปุสว่า เด็กผู้ชายติดแม่และรักแม่มาก และต้องการที่จะเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงคนเดียว แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าแม่และพ่อรักกัน และก็รู้ดีว่าตนด้อยกว่าพ่อทุกครั้งทั้งด้านกำลังและอำนาจ ประกอบกับความรักพ่อและกลัวพ่อ ฉะนั้น เด็กก็พยายามที่จะเก็บกดความรู้สึกที่อยากเป็นเจ้าของแม่แต่คนเดียว และพยายามทำตัวให้เหมือนกับพ่อทุกอย่าง ส่วนเด็กหญิงมีปมอีเล็คตรา (Electra Complex) เหมือนกันปมเอ็ดดิปุส แรกทีเดียวเด็กหญิงก็รับแม่มากเหมือนเด็กชาย แต่เมื่อโตขึ้นพบว่าตนเองไม่มีอวัยวะเพศเหมือนเด็กชาย จึงคิดว่าแม่เป็นคนรับผิดชอบเพราะแม่เป็นคนใกล้ชิดที่สุด และโกรธแม่ว่าเป็นคนที่ทำให้ตนไม่มีอวัยวะเพศเหมือนกับเด็กชาย อิจฉาผู้ที่มีอวัยวะเพศชาย แต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ยอมรับและโกรธแม่มาก ถอนความรักจากแม่มารักพ่อที่มีอวัยวะเพศที่ตนปรารถนาจะมี แต่ก็รู้ว่าแม่และพ่อรักกัน เด็กหญิงจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกป้องกันตน โดยเก็บความรู้สึกความต้องการของตน (Repression) และเปลี่ยนจากการโกรธเกลียดแม่มาเป็นรักแม่ (Reaction Formation) ขณะเดียวกันก็อยากทำตัวให้เหมือนแม่ จึงเลียนแบบ สรุปได้ว่าเด็กหญิงมีความรักพ่อแต่ก็รู้ว่าแย่งพ่อมาจากแม่ไม่ได้จึงเลียนแบบแม่
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) เด็กวัยนี้อยู่ระหว่างอายุ 6-12 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กเก็บกดความต้องการทางเพศหรือความต้องการทางเพศลดลง (Quiescence Period) เด็กชายมักเล่นหรือจับกลุ่มกับเด็กชาย ส่วนเด็กหญิงก็จะเล่นหรือจับกลุ่มกับเด็กหญิง
5. ขั้นสนใจเพศตรงข้าม (Genital Stage) วัยนี้เป็นวัยรุ่นเริ่มตัวแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป จะมีความต้องการทางเพศ วัยนี้จะมีความสนใจในเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่

ฟรอยด์กล่าวว่า ถ้าเด็กโชคดีและผ่านวัยแต่ละวัยโดยไม่มีปัญหาก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพปกติ แต่ถ้าเด็กมีปัญหาในแต่ละขั้นของพัฒนาการก็จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งฟรอยด์ได้ตั้งชื่อตามแต่ละวัย เช่น Oral Personalities เป็นผลของ Fixation ในวัยทารกจนถึง 2 ปี ถ้า Fixation เกิดในระยะที่ 2 ของชีวิต คือ อายุราวๆ 2-3 ปี จะทำให้บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพแบบ Anal Personality ซึ่งอาจจะมีลักษณะต่างๆ ดังนี้

1. เป็นคนเจ้าสะอาดมากเกินไป (Obsessively Clean)

2. อาจจะมีลักษณะตรงข้ามเลย คือ รุงรัง ไม่เป็นระเบียบ
3. อาจจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย หรือตระหนี่ก็ได้

Id เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่เป็นส่วนที่เป็นจิตไร้สำนึก มีหลักการที่จะสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น เอาแต่ได้อย่างเดียว และจุดเป้าหมายก็คือ หลักความพึงพอใจ (Pleasure principle) Id จะผลักดันให้ Ego ประกอบในส่งต่างๆ ตามที่ Id ต้องการ
Ego เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่พัฒนามาจากการที่ทารกได้ติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภาพนอก บุคคลที่มีบุคลิกภาพปกติคือ บุคคลที่ Ego สามารถที่ปรับตัวให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการของ Id โลกภายนอก และ Superego หลักการที่ Ego ใช้คือหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle)
Superego เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นในระยะที่ 3 ของพัฒนาการที่ชื่อว่า Phallic Stage เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ตั้งมาตรการของพฤติกรรมให้แต่ละบุคคล โดยรับค่านิยมและมาตรฐานจริยธรรมของบิดามารดาเป็นของตน โดยตั้งเป็นมาตรการความประพฤติ มาตรการนี้จะเป็นเสียงแทนบิดา มารดา คอยบอกว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ มาตรการของพฤติกรรมโดยมากได้มาจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พ่อแม่สอนและมักจะเป็นมาตรฐานจริยธรรมและค่านิยมของพ่อแม่
Superego แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ Conscious ซึ่งคอยบอกให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา และอีกอันหนึ่งคือ Ego ideal ซึ่งสนับสนุนให้มีความประพฤติดี ส่วน Conscious มักจะเกิดจากการบู่ว่าจะทำโทษ เช่น ถ้าทำอย่างนั้นเป็นเด็กไม่ดี ควรจะละอายแก่ใจที่ประพฤติเช่นนั้น ส่วน Ego ideal มักจะเกิดจากการให้แรงเสริมบวกหรือการยอมรับ เช่น แม่รักหนูเพราะหนูเป็นเด็กดี
ฟรอยด์กล่าวว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะขั้นวัยทารก วัยเด็ก และวันวัยรุ่น ระบบทั้งสามจะทำงานประสานกันดีขึ้นเนื่องจากเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือโลกภายนอกมากขึ้น ยิ่งโตขึ้น Ego ก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และสามารถที่จะควบคุม Id ได้มากขึ้น องค์ประกอบที่มีส่วนในพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ฟรอยด์ได้กล่าวไว้ มีดังนี้
1. วุฒิภาวะ หมายถึง ขั้นพัฒนาการตามวัย
2. ความคับข้องใจที่เกิดจากความสมหวังไม่สมหวัง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก
3. ความคับข้องใจ เนื่องมาจากความขัดแย้งภายใน
4. ความไม่พร้อมของตนเอง ทั้งทางด้านร่างกาย เชาว์ปัญญา การขาดประสบการณ์
5. ความวิตกกังวล เนื่องมาจากความกลัวหรือความไม่กล้าของตน

ฟรอยด์เชื่อว่า ความคับข้องใจเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการทางบุคลิกภาพ แต่ต้องมีจำนวนพอเหมาะที่จะช่วยพัฒนา Ego แต่ถ้ามีความคับข้องใจมากเกินไปก็จะเกิดปัญหาทำให้เกิดกลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ซึ่งเป็นวิธีการปรับตัวในระดับจิตไร้สำนึก โดยฟรอยด์และบุตรสาว (แอนนา ฟรอยด์) ได้แบ่งประเภทกลไกการป้องกันตัว ได้แก่
1. การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจหรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก
2. การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น (Projection) หมายถึง การลดความวิตกกังวล การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น
3. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับคัวโดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น
4. การถดถอย (Regression) หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข
5. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเองที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมอาจจะไม่ยอมรับ
6. การสร้างวิมานในอากาศหรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming) กลไกป้องกันตัวประเภทนี้เป็นการสร้างจินตนาการหรือมโนภาพเกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้
7. การแยกตัว (Isolation) หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง
8. การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธหรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ
9. การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจิตวิทยา

เล่าเรื่องจิตวิทยาการปรึกษา มุมที่คุณไม่เคยรู้

หากพวกเราได้เคยดูหนังฝรั่ง คงจะได้เคยเห็นบางเรื่อง เมื่อคนมีปัญหาทางใจก็จะไปหานักจิตวิทยา ไปนอนแล้วบ่นพึมพำ ๆ พอเสร็จแล้วก็โล่งใจขึ้น กลับไปทำภาระของตนเองได้ต่อไป ภาพอย่างนี้คงเป็นภาพที่ฉายความเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาสำหรับสังคมฝรั่งที่มีอิทธิพลต่อการมองอาชีพนักจิตวิทยาในสังคมไทยพอสมควร

อันที่จริงแล้วนักจิตวิทยาในไทยตอนนี้แฝงตัวไปในแทบทุกที่ และแทบทุกสถาบันอุดมศึกษา ภาพของผู้ที่มารับบริการแบบในหนังนั้น ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้วในปัจจุบัน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า จิตวิทยาการปรึกษานั้นมีการ work กับคนไปได้โดยใช้พื้นแนวคิดหลายแนวคิด ทั้งของจิตวิเคราะห์วิแคะ ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ หรือ คาเรล จุง สำนักพฤติกรรมนิยม อย่างเช่นของ สกินเนอร์ ที่เป็นที่แพร่หลายกันเป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่ง จิตวิทยาแบบ Mass ของแนวคิดเรื่อง บีแฮฟวิเออร์นิวโรไซส์ (Behavioral Neuroscience) ที่มาแรงอยู่พักหนึ่ง ไปจนถึง NLP ที่เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างครึกโครมว่าจะนำความสำเร็จอันมหาศาลมาสู่คนได้ เป็นจิตวิทยาที่จะเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นยอดมนุษย์ ซึ่งดูแล้วเหมือนอุลตร้าแมนมากกว่า

เมื่อจิตวิทยามีหลายสำนัก แต่ภาพที่ถูกฉายให้คนได้รับรู้กันนั้น ที่นอนบนเตียง เป็นวิธีการของฟรอยด์เดี้ยน (Freudian) ซึ่งแต่เดิมนั้นฮิตกันมาก ในยุคก่อนที่จะเปลี่ยนมาสู่สำนักแนวคิดแบบ มนุษย์นิยม (Humanism) ซึ่งคาร์ล โรเจอร์ เป็นเจ้าตำรับแห่งสำนักนี้ และอีกคนหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในสำนักนี้ได้แก่ อับราฮัม มาสโลว์ ซึ่งศึกษาถึงซูเปอร์มนุษย์ คือคนที่เป็น self-actualizing person ไปแล้วนั่นเอง

จิตวิทยาตะวันตกมีวิวัฒนาการมากมาย และแนวคิดในการนำมาใช้สำหรับการปรึกษาก็มีมากมาย และด้วยความแตกต่างอย่างมากมาย ก็มีคนไปอ้างกันไปต่างต่างนานามากมาย

จิตวิทยาการปรึกษานั้น เรียกตามภาษาอังกฤษได้ว่า Counseling Psychology ไม่ใช่ Consulting หรือ Guidance ใด ๆ 

จิตวิทยาการปรึกษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จะนำคนจากความไม่สบายใจ มาสู่ความสบายใจ จากมืดสู่สว่าง จากแคบสู่กว้าง จากว่างสุ่เต็ม จากรกสู่ว่าง 

คือเป้าหมายแห่งจิตวิทยาการปรึกษานั้น คือ ใครไม่สบายใจ มาเจอนักจิตวิทยาแล้วจะสบายใจขึ้นได้นั่นเอง หรือใครสบายใจอยู่แล้วก็จะพัฒนาสภาพแห่งความสบายใจนั้นได้

คราวต่อไปจะเล่าถึงความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาสำนักต่าง ๆ และ บอกว่ามันมีผลเกี่ยวกับตัวเราทุกคนยังไง และจิตวิทยานั้นมีแต่ของนักคิดฝรั่งอย่างนั้นหรือ แล้วในไทยเรามีหรือไม่ที่เป็นนักคิดอะไรอย่างของฝรั่งเขา